Working-in-Japanese-Company

ปัจจุบันบริษัทญี่ปุ่นได้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก
ถ้านับเป็นจำนวนเงินการลงทุนแล้ว ถือว่ายังเป็นต่างชาติอันดับหนึ่งที่เข้ามาลงทุนในไทย สูงถึง 1 ใน 3 ของเงินลงทุนจากทุกประเทศ
ฉะนั้นเราอาจจะได้เข้าไปทำงานในบริษัทญี่ปุ่น ที่มีอยู่มากมายหลากหลายธุรกิจ
ไม่ว่าจะเป็นโรงงานอุตสาหกรรม งานบริการ การเงิน ไอที เกม อนิเมชั่น ต่างๆ
ซึ่งแต่ละประเภทของธุรกิจก็จะมีปัจจัยหลายอย่างที่ไม่เหมือนกัน วันนี้เราจะมาดูข้อควรรู้ เวลาที่จะเข้าไปทำงานกับบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทยกัน

วัฒนธรรมการทำงานของคนญี่ปุ่น

ทราบกันดีว่า คนญี่ปุ่นทำงานกันหนักมาก ทำหามรุ่งหามค่ำ ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ลองยกตัวอย่างมาดูเป็นข้อๆ

1) คนญี่ปุ่นตรงต่อเวลา: ในการเข้างานควรจะเข้าให้ตรงเวลา อาจจะก่อนเวลาเล็กน้อย เพื่อทำภาระกิจส่วนตัวก่อนเริ่มงาน
รวมถึงการนัดหมายกับคนญี่ปุ่น ควรจะไปให้ตรงเวลา ไม่ควรไปก่อนเวลามากเกินไป เพราะเขาอาจจะติดธุระอย่างอื่น และที่สำคัญคือไม่ควรไปสายเด็ดขาด ถ้าไปไม่ทันให้รีบแจ้งให้คนญี่ปุ่นทราบก่อนถึงเวลานัดให้เร็วที่สุด

2) คนญี่ปุ่นเลิกงานช้า: ในประเทศญี่ปุ่น วัฒนธรรมการเลิกงานคือจะต้องกลับหลังจากเจ้านาย หรือหัวหน้า
ซึ่งปัจจุบันก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสมอไป โดยเฉพาะในประเทศไทย บริษัทญี่ปุ่นส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ซีเรียสกับเรื่องนี้มากแล้ว เมื่อถึงเวลากลับแล้วก็บอกหัวหน้างานให้ทราบก่อนกลับ เพื่อมารยาทที่ดีในการทำงาน

3) คนญี่ปุ่นเลิกงานแล้วชอบไปสังสรรค์กันก่อนกลับบ้าน: พนักงานคนไทยบางคนอาจจะลำบากใจ ที่จะต้องไปร่วมสังสรรค์ด้วย ทั้งที่ตัวเองไม่อยากไป
เราสามารถบอกเขาไปตรงๆเลยก็ได้ว่า เราไม่สะดวกเนื่องจากติดธุระ เช่น ต้องไปออกกำลังกาย ต้องไปดูแลงานบ้านให้ครอบครัว ต้องไปรับลูก ฯลฯ คนญี่ปุ่นจะสามารถเข้าใจได้ และไม่เสียมารยาท

4) คนญี่ปุ่นมีความรับผิดชอบต่องานสูงมาก: ข้อนี้เป็นเหมือนเรื่องปกติของคนญี่ปุ่น ที่จะต้องรับผิดชอบงานที่ตนได้รับมอบหมายอย่างดีที่สุด ถ้าวันหยุดจำเป็นต้องทำก็ถือเป็นเรื่องปกติ โดยไม่ได้หวังค่าล่วงเวลา
ดังนี้เราจึงควรเรียนรู้เกี่ยวกับความรับผิดชอบต่องานของคนญี่ปุ่น นำมาปรับใช้ให้งานของเราดีขึ้น แต่เมื่องานสำเร็จแล้วถึงเวลาพัก คนญี่ปุ่นก็จะเต็มที่กับการพักผ่อนเช่นกัน

5) คนญี่ปุ่นบางคนหัวแข็ง ไม่ยอมรับวัฒนธรรมไทย: เราอาจจะพบเจอคนญี่ปุ่นรุ่นเก่าๆที่เป็นแบบนี้ ดังนั้นเราจึงควรอธิบายให้เขาเหล่านั้นทราบ
เกี่ยวกับวัฒนธรรมการทำงานของคนไทยว่าแตกต่างจากญี่ปุ่นอย่างไร เพื่อให้ทั้งสองชาติทำงานร่วมกันได้อย่างดี และเกิดประโยชน์สูงสุด

6) คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่ทานอาหารข้างทาง: ข้อนี้อาจจะไม่ได้เกี่ยวกับการทำงานโดยตรง แต่เราอาจจะพบเจอได้เมื่อเราต้องพาเขาไปทานข้าว
ส่วนใหญ่คนญี่ปุ่นมองว่าอาหารข้างทางไม่สะอาด และอาจจะทำให้เกิดอาการท้องเสีย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่องานได้ เราจึงควรเลือกร้านอาหารที่ดูสะอาด ถูกหลักสุขอนามัย

7) คนญี่ปุ่นไม่นิยมย้ายงาน: เนื่องจากคนญี่ปุ่นจะชื่นชมคนที่มีความพยายามแม้อยู่ในสถานการณ์ที่ลำบาก คนญี่ปุ่นเมื่อได้งานทำหลังจากจบมหาวิทยาลัยแล้ว
ก็จะตั้งใจและพยายามทำงานให้ตนเองได้เติบโตในองค์กร ซึ่งผลที่ตามมาคือจะทำให้องค์กรพัฒนาและส่งผลให้ตนเองได้ค่าตอบแทนที่เพิ่มขึ้น ตำแหน่งที่สูงขึ้น และได้รับการยกย่องจากคนรอบข้างอีกด้วย
ดังนั้นเราจึงควรตระหนักถึงความคิดของคนญี่ปุ่นข้อนี้ เมื่อเราตัดสินใจเข้าทำงานกับที่ใดแล้ว ให้เราพยายามทำงานให้ดีที่สุดเพื่อพิสูจน์ตัวเอง คนญี่ปุ่นจะชื่นชมมาก

8) คนญี่ปุ่นมีความเป็นส่วนตัวสูงมาก: เรื่องส่วนตัวและเรื่องงานจะไม่นำมาเกี่ยวข้องกัน บางครั้งเราอาจจะไม่สามารถรู้ได้เลยว่าครอบครัวเขาเป็นอย่างไร พักอยู่ที่ไหน
เพราะฉะนั้นไม่ควรที่จะถามคนญี่ปุ่นในเรื่องส่วนตัวมากเกินไป นอกจากเขาจะถามเราก่อน เราก็สามารถถามกลับได้ ไม่เสียมารยาทแต่อย่างใด

9) เมื่อไปพบลูกค้าญี่ปุ่น ต้องแต่งตัวสุภาพเป็นทางการมากๆ: ในประเทศญี่ปุ่นที่อากาศไม่ร้อนเหมือนประเทศไทย เมื่อต้องไปพบลูกค้า ปกติจะต้องแต่งกายอย่างเป็นทางการ โดยการผูกไทด์ใส่สูท
ซึ่งสภาพอากาศในประเทศไทยนั้น อาจจะร้อนเกินไปที่จะแต่งกายแบบนี้ไปเดินข้างนอก ดังนั้นถ้าจำเป็นต้องแต่งกายแบบเป็นทางการมากๆ ควรจะเตรียมสูทและไทด์ไปก่อนโดยยังไม่ต้องใส่ แล้วค่อยแต่งกายให้สุภาพก่อนเจอลูกค้า อย่างน้อยมีเสื้อสูทที่ดูสุภาพใส่คลุมไว้ ก็จะช่วยได้มาก
ทั้งนี้บางสถานะการอาจจะไม่จำเป็นต้องแต่งกายรัดกุมถึงขนาดใส่สูท เราควรที่จะสอบถามคนญี่ปุ่นที่จะเดินทางไปกับเรา หรือหัวหน้าของเราว่าสถานการณ์แบบนี้ จะต้องแต่งกายอย่างไรดี เพื่อให้ถูกต้องตามมารยาทและกาลเทศะ

10) คนญี่ปุ่นชอบคนที่พูดภาษาญี่ปุ่นได้เป็นพิเศษ: คนญี่ปุ่นจะไว้ใจคนชาติตัวเองเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อได้คุยกับคนต่างชาติที่พูดภาษาญี่ปุ่นได้ คนญี่ปุ่นจะรู้สึกอุ่นใจเป็นพิเศษ
จนบางครั้งจะไว้วางใจให้ทำงานที่ต้องรับผิดชอบสูงมากๆ เพราะฉะนั้นเมื่อได้มีโอกาสทำงานที่บริษัทญี่ปุ่น ก็ควรที่จะเรียนรู้ภาษาญี่ปุ่นไปด้วย เพื่อการเติบโตในหน้าที่การงานอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น

บริษัทญี่ปุ่นในไทยมีอยู่หลากหลายธุรกิจ

ซึ่งบุคลากรในแต่ละรูปแบบธุรกิจนั้น ก็จะมีลักษณะเด่นที่แตกต่างกันไป อาทิเช่น
1) ธุรกิจไอที: บุคลากรทางด้านนี้ส่วนใหญ่จะเป็นคนรุ่นใหม่ ที่สนใจเทคโนโลยี อายุเฉลี่ยของคนญี่ป่นในธุรกิจนี้ก็จะไม่สูงมาก
ส่วนใหญ่คนญี่ปุ่นในกลุ่มนี้จะยอมรับวัฒนธรรมต่างประเทศได้ง่ายกว่ากลุ่มอื่นๆ การทำงานกับคนไทยก็จะเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น

2) ธุรกิจอุตสาหกรรม: บุคลากรกลุ่มนี้ เป็นกลุ่มที่มีมากที่สุดในประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่จะยังยึดถือวัฒนธรรมการทำงานแบบญี่ปุ่น มีวิศวกรญี่ปุ่นจำนวนมาก ทั้งที่มาประจำและไปๆมาๆระหว่างไทยกับญี่ปุ่น
ซึ่งเราคนไทยจะต้องเรียนรู้วัฒนธรรมการทำงานของคนญี่ปุ่นตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น เพื่อที่จะสามารถทำงานกับคนญี่ปุ่นได้อย่างราบรื่น

3) ธุรกิจค้าขาย (Trading): บุคลากรกลุ่มนี้จะมีพนักงานขายค่อนข้างเยอะ ซึ่งโดยบุคลิกแล้วเป็นคนที่พูดเก่ง ชอบสังสรรค์ และเข้ากับคนได้ง่าย
จึงมีแนวโน้มที่จะไปสังสรรค์บ่อย ทั้งกับภายในองค์กรเองและกับลูกค้า

4) ธุรกิจการเงินและการธนาคาร: บุคลากรกลุ่มนี้ในการทำงานจะเป็นคนสุขุม ดูน่าเชื่อถือ และเป็นทางการ
ซึ่งเราจะต้องปรับตัวทั้งด้านมารยาทการเข้าพบลูกค้า การแต่งตัว และเรื่องของการพูดเพื่อให้เข้ากับองค์กรได้

ธุรกิจญี่ปุ่นอื่นๆยังมีอีกมากมายที่ยังกล่าวไม่หมด ไม่ว่าเป็นรูปแบบไหน ถ้าเราตัดสินใจที่จะทำงานด้วยแล้ว ก็ควรเรียนรู้วัฒนธรรมการทำงานของคนญี่ปุ่นให้ถ่องแท้ เพื่อให้การทำงานเกิดผลสัมฤทธิ์มากที่สุด เป็นประโยชน์กับทั้งสองประเทศ

ทำอย่างไรให้ทำงานกับคนญี่ปุ่นได้นานๆ

การทำงานกับคนต่างชาติต่างภาษาต่างวัฒนธรรมเป็นเรื่องยาก เราลองมาดูข้อแนะนำว่ามีอะไรบ้าง
1) เรียนรู้วัฒนธรรมการทำงานของคนญี่ปุ่นให้มากที่สุด เพื่อนำมาปรับใช้
2) เอาใจเขามาใส่ใจเรา คนญี่ปุ่นที่มาทำงานที่ไทยต้องปรับตัวค่อนข้างมาก เขาก็ทำงานลำบากเช่นกัน เพราะฉะนั้นถ้ามีอะไรผิดใจกัน ให้คุยปรับความเข้าใจกันให้ดีก่อนที่จะตัดสินใจลาออก
3) แลกเปลี่ยนภาษาและวัฒนธรรมกัน คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่อยากใช้ภาษาไทยได้ คนไทยก็ต้องการเรียนรู้ภาษาญี่ปุ่นเช่นกัน เพราะฉะนั้นถือโอกาสในการได้ทำงานร่วมกันให้เป็นประโยชน์
4) ช่วยเหลือเรื่องอื่นๆนอกจากเรื่องงาน เมื่อคนญี่ปุ่นขอร้องให้เราช่วย และเป็นสิ่งที่เราช่วยเหลือได้โดยไม่เดือดร้อน ก็ควรที่จะแสดงน้ำใจ
5) เป็นเจ้าบ้านที่ดี แนะนำสิ่งดีๆในประเทศไทย เพื่อให้คนญี่ปุ่นใช้ชีวิตในประเทศไทยได้อย่างดียิ่งขึ้น และสร้างสัมพันธไมตรีที่ดีต่อกันระหว่างสองประเทศ

เรื่องที่เรายังไม่รู้ยังมีอีกมากมาย ท่านใดมีข้อมูลเพิ่มเติมหรือแนะนำติชมได้ตามคอมเมนต์ด้านล่างได้เลยครับ