ทำไมเพื่อนได้โอที แล้วเราไม่ได้โอทีบ้างล่ะ!?
สวัสดีค่ะ วันนี้แอดมินโมโมโกะ กับ พลอยศรีจันทร์ มีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการจ่ายโอทีมาแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆอีกแล้วค่ะ จากบทความเดิมเราทราบกันแล้วว่า การจ่ายโอทีมีวิธีการคิดอย่างไรบ้าง วันนี้เราจะมาไขข้อสงสัยกันว่า “แล้วตำแหน่งไหนล่ะ ที่ไม่ต้องจ่ายโอที”
อยู่หลายครั้งที่เรามักจะเห็นเพื่อนๆ หรือคนรอบข้างเราบางคนเขาไม่ได้โอทีแม้จะต้องทำงานล่วงเวลาก็ตาม หลายคนอาจจะมีมาบ่นๆให้เราฟังว่า “ทำงานแทบตาย โอทีก็ไม่มี” หรือ “งานนี้ได้โอนะ ไม่ใช่โอทีนะ โอกาสเติบโต” แน่นอนค่ะ ว่าแต่ละบริษัทก็มีเงื่อนไขหรือข้อตกลงที่แตกต่างกันออกไป แต่ในแง่ของกฏหมายแรงงาน เราได้มีข้อยกเว้น หรือข้อบังคับ ดังนี้ค่ะ
มาตรา 65 ลูกจ้างซึ่งมีอำนาจหน้าที่หรือซึ่งนายจ้างให้ทำงานอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามมาตรา 61 และค่าล่วงเวลาในวันหยุดตามมาตรา 63 แต่ลูกจ้างซึ่ง นายจ้างให้ทำงานตาม (3) (4) (5) (6) (7) (8) หรือ (9) มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเท่ากับ อัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ
(1) ลูกจ้างซึ่งมีอำนาจหน้าที่ทำการแทนนายจ้างสำหรับกรณีการจ้าง การให้บำเหน็จ หรือ การเลิกจ้าง
เช่น ลูกจ้างตำแหน่งผู้จัดการ (Manager), ผู้อำนวยการ (Director) กล่าวคือ ผู้มีอำนาจในการจ้างงานพนักงาน การเลิกจ้างพนักงาน การให้บำเหน็จต่างๆ เช่น ขึ้นเงินเดือน โบนัส เป็นต้น จะไม่มีสิทธิได้รับ ค่าล่วงเวลา หรือ "ค่าโอที"
(2) งานเร่ขายหรือชักชวนซื้อสินค้าซึ่งนายจ้างได้จ่ายค่านายหน้าจากการขายสินค้าให้แก่ ลูกจ้าง
เช่น พนักงานขาย ตัวแทนขาย ที่ได้ค่าคอมมิชชั่น ค่าอินเทนซีพต่างๆ จากยอดขาย เป็นต้น
(3) งานขบวนการจัดงานรถไฟ ซึ่งได้แก่งานที่ทำบนขบวนรถและงานอำนวยความสะดวก แก่การเดินรถ
(4) งานเปิดปิดประตูน้ำหรือประตูระบายน้ำ
(5) งานอ่านระดับน้ำและวัดปริมาณน้ำ
(6) งานดับเพลิงหรืองานป้องกันอันตรายสาธารณะ
(7) งานที่มีลักษณะหรือสภาพต้องออกไปทำงานนอกสถานที่ และโดยลักษณะหรือสภาพ ของงานไม่อาจกำหนดเวลาทำงานที่แน่นอนได้
เช่น พนักงานขาย พนักงานดูแลลูกค้า ที่ต้องออกไปพบลูกค้านอกสถานที่บ่อยๆ ซึ่งลักษณะงานจะไม่สามารถกำหนดเวลาตายตัวได้
(8) งานอยู่เวรเฝ้าดูแลสถานที่หรือทรัพย์สินอันมิใช่หน้าที่การทำงานปกติของลูกจ้าง
(9) งานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ทั้งนี้ เว้นแต่นายจ้างตกลงจ่ายค่าล่วงเวลาหรือค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างเองค่ะ
แม้จะมีกฎหมายแรงงานออกมาอย่างชัดเจน แต่หลายๆคนก็ยังคงสงสัยว่า การได้ดำรงตำแหน่งระดับผู้จัดการ แต่ไม่มีโอที กับการดำรงตำแหน่งงานระดับพนักงานทั่วไปแล้วได้โอที แบบไหนมันคุ้มค่ากว่ากัน หลายๆคนใช้ชีวิตอยู่ได้จากรายได้หลักการทำโอที ซึ่งบางคนก็มองว่า การได้เป็นระดับผู้จัดการแม้จะไม่มีโอที แต่ก็ได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นหลายเปอร์เซ็นต์น่าจะคุ้มค่ากว่า
เราเชื่อว่าแต่ละลักษณะงาน ตำแหน่งงาน มีทั้งข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันออกไป อยู่ที่งานที่เราทำตรงกับโจทย์เป้าหมายในชีวิตที่เราเลือกหรือเปล่า แต่หากผู้อ่านสนใจจะเปลี่ยนย้ายงาน กำลังมองหางานที่ตอบโจทย์ในสิ่งที่เรากำลังมองหา อย่าลืมส่ง Resume มาที่ info@ideaboy.co.th เราทีมรีครูทมากประสบการณ์พร้อมให้คำแนะนำเพื่อคุณได้งานที่ใช่อยู่ค่ะ !