overtime-work-calculation-thai-labor-law

เจ้านายบอกให้ทำโอที ! ควรทำดีไหมนะ...

                หลายๆคนมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการทำโอที ว่านายจ้างสามารถบังคับให้เราทำงานล่วงเวลางาน 8 ชั่วโมงได้หรือไม่ แล้วถ้าเราต้องทำโอทีจริงๆ จะทำได้ในกรณีไหนบ้าง และถ้าทำเราควรได้รับค่าล่วงเวลาจำนวนเท่าไร วันนี้เราจะมาไขข้อสงสัยให้เพื่อนๆค่ะ

                จากบทความเดิมเราได้ตีความไว้แล้วว่า การที่นายจ้างจะสามารถเปิดโอทีให้ลูกจ้างได้ ต้องเป็นในกรณีทีงานๆนั้นจะต้องทำโดยด่วน หากไม่ได้ทำตามระยะเวลาที่กำหนดแล้วจะสร้างความเสียหายจากบริษัท นายจ้างมีสิทธิ์ขอให้ลูกจ้างทำโอทีได้ แต่สิ่งที่ค้างคาใจลูกจ้างส่วนมาก คือ การจ่ายเงินค่าล่วงเวลา ที่หลายๆคนยังไม่ได้รับข้อมูลที่ชัดเจน ซึ่งเวลาที่ทำงานนอกเหนือเวลาทำงานปกติ หรือที่เรียกคุ้นๆหูกันว่า โอที จัดอยู่ใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 5 (3) มี 3 แบบด้วยกัน คือ

  • ค่าล่วงเวลา คือ เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานล่วงเวลาในวันทำงานปรกติ
  • ค่าทำงานในวันหยุด คือ เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานในวันหยุดตามปฎิทินบริษัท
  • ค่าล่วงเวลาในวันหยุด คือ เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานล่วงเวลาในวันหยุดตามปฎิทินบริษัท

ตามปกติแล้ว การจ่ายค่าโอที ลูกจ้าง/พนักงานแบบรายวันและรายเดือน จะมีการคำนวณรายได้ที่ต่างกันออกไป

  • พนักงานประจำ เช่น ทำงานวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.00-18.00 น. การคำนวณค่าจ้างปรกติ จะคำนวณดังนี้ (เงินเดือน/30 วัน/8 ชั่วโมงทำงาน) เช่น เงินเดือน 30,000 บาท คิดเป็นค่าจ้างรายวันเท่ากับ 1,000/วัน และคิดเป็นค่าจ้างรายชั่วโมงเท่ากับ 125 บาท/ชั่วโมง เป็นต้น
    ค่าล่วงเวลา ตัวอย่าง ทำงานล่วงเวลาตั้งแต่ 18.00-19.00 น. ของวันจันทร์ จะต้องได้รับค่าล่วงเวลาไม่น้อยกว่า 1.5 เท่าของอัตราค่าจ้างปรกติ กรณีนี้ทำงานล่วงเวลา 1 ชั่วโมง จะคำนวณได้เท่ากับ 125*1.5*1 = 187.50 บาท
    ค่าทำงานในวันหยุด ตัวอย่าง ทำงานในวันหยุด ตั้งแต่ 9.00-18.00 น. ของวันอาทิตย์ จะต้องได้รับค่าทำงานในวันหยุดไม่น้อยกว่า 1 เท่าของอัตราค่าจ้างปรกติ กรณีนี้ทำงานในวันหยุด 8 ชั่วโมง จะคำนวณได้เท่ากับ 125*1*8 = 1,000 บาท ซึ่งเท่ากับค่าจ้างปรกติเมื่อคำนวณเป็นรายวันพอดี
    ค่าล่วงเวลาในวันหยุด ตัวอย่าง ทำงานในวันหยุด ตั้งแต่ 9.00-18.00 น. ของวันอาทิตย์ แล้วทำงานต่อไปอีกตั้งแต่ 18.00-19.00 น. นอกจากจะได้รับค่าทำงานในวันหยุดจากข้างบน 1,000 บาทแล้วนั้น จะต้องได้รับค่าล่วงเวลาในวันหยุดเพิ่มอีกเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 3 เท่าของอัตราค่าจ้างปรกติ ซึ่งคำนวณได้เท่ากับ 125*3*1 = 375 บาท/ชั่วโมง เป็นต้น
  • พนักงานรายวัน(ชั่วคราว) โดยปกติแล้วเมื่อไม่ได้มาทำงานจะไม่ได้ค่าจ้าง ดังนั้นจึงถือเป็นลูกจ้างที่ไม่มีสิทธิรับค่าจ้างในวันหยุด (มาตรา 62 (2)) ดังนั้น นายจ้างต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดไม่น้อยกว่า 2 เท่าของอัตราค่าจ้างปรกติ ยกตัวอย่าง หากลูกค้าจ้างรายวันมีอัตราค่าจ้างปรกติ 350 บาท/วัน เมื่อมาทำงานในวันหยุดเต็มวันเหมือนวันทำงานปรกติ จะต้องได้รับค่าทำงานในวันหยุดเป็นจำนวน 350*2 = 700 บาท/วัน ส่วนค่าล่วงเวลาในวันทำงานปรกติและในวันหยุดนั้น จะคำนวณเหมือนพนักงานประจำทุกประการ

              ในตอนต่อไป เราจะมาอธิบายว่าพนักงานตำแหน่งใด ประเภทใดสามารถได้รับค่าล่วงเวลา และมีข้อยกเว้นไม่ได้รับค่าล่วงเวลากันค่ะ

                หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมที่อยากให้ทางไอเดียบอยแนะนำหรือให้ปรึกษาเรื่องการสรรหาบุคคล สามารถติดต่อได้ที่ 02-661-7615 หรืออีเมลมาที่ info@ideaboy.co.th