How-to-raise-value-for-salary-man

การเพิ่มมูลค่าและคุณค่าให้กับการทำงาน ฉบับมนุษย์เงินเดือน

เคยไหมครับ ที่รู้สึกว่าหัวหน้า หรือ เจ้านาย มองไม่เห็นคุณค่าในตัวเรา
ทำงานแทบตาย แต่ก็ยังไม่มีผู้ใหญ่มองเห็นสักที จนวันหนึ่งรู้สึกท้อ ไฟเริ่มหมด แล้วต้องตัดสินใจเดินจากไป
วันนี้เราจะลองมาคุยกันว่า จริงๆแล้ว หัวหน้า หรือ เจ้านาย นั้น เขามองตัวพนักงานว่ามีมูลค่า และ คุณค่า ในด้านใดบ้าง

สิ่งที่วัดได้ชัดเจนที่สุดคือ เงินเดือน หรือ ค่าจ้าง
ทุกธุรกิจย่อมต้องการกำไร เพื่อการดำรงอยู่ขององค์กร เป็นเรื่องปกติ
ค่าจ้างนั้นเป็น “ค่าใช้จ่ายคงที่” ที่เป็นเงินลงทุนของบริษัทในทุกๆเดือน
ดังนั้น หากพนักงานสามารถสร้างรายได้ หรือ มีมูลค่า ตอบแทนบริษัทได้ดีเท่าไร (ความหมายคือ ทำกำไรได้เยอะเท่าไร)
หัวหน้า หรือ เจ้านาย ก็จะยิ่งให้คุณค่า หรือ ประเมินมูลค่า ให้พนักงานมากตามไปด้วย
ทั้งนี้ รูปแบบธุรกิจของแต่ละบริษัทจะไม่เหมือนกัน มีรูปแบบที่มาของรายได้หลากหลาย
แต่พนักงานที่สร้างรายได้โดยตรง จะมีแนวโน้มถูกประเมินมูลค่าได้สูงกว่า พนักงานที่ทำทางอ้อม
พนักงานที่สร้างรายได้ทางตรง เช่น พนักงานขาย (เซลส์) พนักงานฝ่ายผลิต พนักงานบริการ ฝ่ายวิจัยพัฒนา เป็นต้น
ส่วนพนักงานที่สร้างรายได้ทางอ้อม เช่น พนักงานธุรการ ฝ่ายบุคคล ฝ่ายการเงิน บัญชี บริหาร เป็นต้น
ซึ่งทั้งทางตรงและทางอ้อม ล้วนมีความสำคัญในตัวเอง จะขาดด้านใดด้านหนึ่งไปไม่ได้

จะเพิ่มมูลค่าในการทำงานได้อย่างไร ให้ถูกใจหัวหน้า หรือ ถูกใจเจ้านาย
ก่อนอื่นต้องดูที่เป้าหมายของแต่ละธุรกิจ และแต่ละบริษัท ในตอนนั้น ว่าเป็นแบบไหน เป็นไปในทางไหน
หากเรายังไม่เข้าใจเป้าหมาย หรือ ไม่แน่ใจ ให้สอบถามไปที่หัวหน้า หรือ เจ้านาย เพื่อรับทราบเป้าหมายอย่างถูกต้อง
การทำงานโดยไม่มีเป้าหมาย ไม่มั่นใจในเป้าหมาย เป็นสิ่งที่อันตรายต่อมูลค่าในตัวเองมาก
เพราะจะอาจจะเดินไปในทางที่ผิด ไม่ตรงกับเป้าหมาย จุดประสงค์ของบริษัท ทำให้ถูกประเมินมูลค่าต่ำกว่าในสิ่งที่เราพยายามไปมาก
เช่น บริษัทอยากให้เราเน้นรักษายอดขายกับลูกค้าเดิม แต่เราพยายามไปเพิ่มยอดขายกับลูกค้าใหม่อย่างเดียว เมื่อประเมินออกมา ตัวเลขจะไม่ตรงกับสิ่งที่เป้าหมายระบุไว้ เป็นต้น
ถ้าเราเห็นว่า เป้าหมาย หรือ จุดประสงค์ ของบริษัท ไม่เป็นไปตามที่เราอยากให้เป็น ให้เราเปิดใจคุยกับหัวหน้า หรือ เจ้านาย เพื่อคุยอธิบายเหตุผลอย่างตรงไปตรงมา ให้สามารถปรับเปลี่ยนเป้าหมายใหม่ได้

งานสร้างรายได้ทางอ้อม จะมีวิธีเพิ่มมูลค่าได้อย่างไรบ้าง
งานทางอ้อม ส่วนใหญ่จะเป็นงานบริหาร จัดการ ดูแลทรัพยากรภายในองค์กร ตั้งแต่บุคลากรไปจนถึงทรัพย์สิน
เพราะฉะนั้น การเพิ่มมูลค่าจะเน้นไปที่การประหยัดต้นทุน การลดต้นทุน ซึ่งต้นทุนในที่นี้ นอกจากเงินแล้ว ยังรวมถึงเวลา และจำนวนบุคลากรด้วย
พนักงานทางอ้อม ที่สามารถทำงานได้เร็ว สามารถทำงานได้หลายหน้าที่ มีทักษะหลากหลาย จะสามารถสร้างมูลค่าให้ตัวเองได้ดีกว่า
ตัวอย่างการเพิ่มมูลค่า เช่น การทำไคเซ็น หรือ การปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้นเพียงวันละนิด เมื่อทำอย่างต่อเนื่องแล้วจะเห็นผลอย่างมหาศาล
การใช้เทคโนโลยี หรือ ระบบสมัยใหม่ เข้ามาช่วยในการทำงาน เช่น การใช้โปรแกรมระบบบัญชี โปรแกรมบริหารบุคคล เป็นต้น ซึ่งวิธีนี้อาจจะต้องลงทุนมากในช่วงแรก แต่จะเห็นผลในระยะยาวอีกหลายปี ซึ่งหากเราเป็นพนักงานทางอ้อมที่สามารถใช้งานระบบเหล่านี้ได้อย่างคล่องแคล่ว หรือมีไอเดียในการพัฒนาระบบต่างๆนี้ ก็จะสร้างมูลค่าให้กับตัวเราได้อีกเยอะ

การเปลี่ยนงานสามารถเพิ่มมูลค่าได้จริงไหม
เป็นวัฒนธรรมการทำงานของพวกเราไปแล้วว่า เมื่อทำงานได้สักพักควรจะเปลี่ยนงาน เพื่อเพิ่มเงินเดือนหรือเพิ่มรายได้
การเปลี่ยนงานที่เพิ่มมูลค่า คือการเปลี่ยนงานที่ได้ใช้ทักษะและประสบการณ์จากงานปัจจุบัน ไปต่อยอดให้กับงานใหม่ แบบนี้นายจ้างใหม่จะมองเห็นมูลค่าในตัวเรา แล้วยอมจ่ายมากขึ้นเพื่อให้ได้เราไปทำงานด้วย
ส่วนการเปลี่ยนงานที่ไม่ได้ใช้ทักษะและประสบการณ์ที่มีอยู่อย่างเติมที่ อาจจะถูกลดมูลค่าได้ ทำให้บางครั้งต้องยอมลดเงินเดือน หรือ รายรับลงไป
ทั้งนี้ การเปลี่ยนงานที่บ่อยเกินไป เช่น ทำงานไม่ถึงปี ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ถูกมองว่า เป็นคนไม่อดทน ไม่สู้งาน แล้วจะถูกลดมูลค่าลงไปได้มากกว่าคนที่ทำงานเดิมนานๆหลายปี

สุดท้ายนี้ มูลค่า หรือ คุณค่า นั้นเป็นสิ่งที่แต่ละคนประเมินแล้วให้คุณค่าไม่เหมือนกัน การเข้าใจในเป้าหมาย และจุดประสงค์ของผู้ประเมิน จึงเป็นสิ่งสำคัญ