สวัสดีครับ ห่างหายไปนาน วันนี้เราจะมาพูดถึงเรื่องการวัดประสิทธิภาพในการทำงาน ซึ่งจะเกี่ยวข้องโดยตรงกับ Productivity หรือประสิทธิภาพในการผลิต อาจจะเรียกได้อีกอย่างนึงว่า ประสิทธิภาพในการทำงานก็คือ Productivity นั่นเอง
ในภาพใหญ่ของเศรษฐกิจประเทศ องค์กรใหญ่ แม้แต่บริษัทต่างๆ ได้ใช้สิ่งนี้ เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ และการเติบโตขององค์กรมานานแล้ว ซึ่งเราสามารถนำมันมาประยุกต์ใช้กับตัวเราเองได้เหมือนกัน
ก่อนอื่นเลย ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า งานที่เราทำอยู่นั้น ได้ตอบสนองความต้องการของบริษัทหรือองค์กรมากน้อยแค่ไหน ไปในทางเดียวกันไหม ถ้ายังไม่แน่ใจ ให้รีบปรึกษากับผู้บริหารหรือหัวหน้าเราก่อนเลยว่า สิ่งที่เราทำอยู่ทุกวันนี้ มีมูลค่า คุณค่า ให้กับบริษัทหรือองค์กรของเราอย่างไร ถึงแม้เราจะมั่นใจว่า สิ่งที่เราทำอยู่นั้นไปถูกทาง แต่ก็ควรจะคุยกับบริษัทกับองค์กรก่อน ว่าทั้งสองฝ่ายคิดตรงกันหรือไม่ จะได้ไม่เกิดความเข้าใจผิด และเป็นงานที่ไม่เกิดประโยชน์
หากเป็นงานด้านที่เกี่ยวกับการได้รายได้โดยตรง เช่น งานขาย อาจจะสามารถวัดประสิทธิภาพได้ง่าย เนื่องจากดูจากยอดขายที่เราทำได้ทันที หรือเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิต ก็จะสามารถวัดประสิทธิภาพการทำงานได้ง่ายเช่นกัน เพราะสามารถเช็คได้ทันทีว่า ผลงานที่ทำออกมานั้น ได้สูงกว่าหรือต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้มากน้อยแค่ไหน
ปัญหามันอยู่ตรงที่ งานที่ทำอยู่นั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับยอดขายโดยตรง เช่น งานธุรการ งานบัญชี งานบริหารจัดการภายใน งานค้นคว้าวิจัยผลิตภัณฑ์และบริการ ซึ่งงานประเภทนี้ ส่วนใหญ่องค์กรหรือบริษัทจะต้องกำหนดเป้าหมาย หรือตั้งเป้าหมายร่วมกันระหว่างพนักงาน และกำหนดตัวชี้วัดที่เรียกกันว่า KPI ออกมาวัดซึ่งบางครั้งอาจจะไม่โดนใจพนักงานอย่างเราๆเท่าไรนัก
ดังนั้นการที่จะวัดประสิทธิภาพการทำงานหรือ Productivity ของเราให้ได้นั้น วิธีการที่ง่ายที่สุดก็คือ ให้ลองนำค่าจ้างที่องค์กรหรือบริษัทจ่ายให้กับเราทุกๆเดือนเป็นตัวตั้ง แล้วหารด้วยผลงาน หรือ Output ที่ออกมา ซึ่งตัวเลขที่สมดุลคือ 1 ถ้ามากกว่านี้แสดงว่าแพงไป ถ้าน้อยกว่านี้แสดงว่าไม่แพง จะมีความสามารถในการแข่งขันที่สูง (ยิ่งน้อยยิ่งดีกับมุมมองของบริษัทหรือองค์กร แต่ตัวพนักงานอาจจะรู้สึกไม่พอใจหากน้อยเกินไป)
การวัดประสิทธิภาพนั้น ส่วนใหญ่ตัวผู้วัดจะคิดเข้าข้างตัวเอง ทำให้เกิดความลำเอียงไม่เป็นตัวเลขที่แท้จริง ดังนั้นจึงควรคุยกับบริษัทหรือองค์บ่อยๆ เพื่อทราบแนวทางการประเมินให้สมเหตุสมผลที่สุด
อย่างไรก็ตาม เราอย่าลืมว่า บริษัทหรือองค์กรที่แสวงหากำไรนั้น ย่อมต้องการ Productivity ที่มากกว่าเงินที่ลงทุนไป เพื่อสร้างผลกำไรให้สามารถเติบโตและเดินหน้าต่อไปได้ ดังนั้น เราซึ่งเป็นพนักงานที่ขับเคลื่อนองค์กร ควรจะสร้างสรรค์ผลงานที่ดีขึ้นเรื่อยๆอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่ม Productivity และเพิ่มคุณค่าให้กับตัวเราเอง เมื่อ Productivity เพิ่ม รายรับหรือเงินเดือนของเราก็จะเพิ่มขึ้นตาม เพื่อรักษาสมดุล ไม่ต้องห่วงว่าหากเราทำงานได้ดีขึ้น แต่บริษัทหรือองค์กรเราไม่เห็นคุณค่า เดี๋ยวสักพักจะมี Head Hunter หรือ Recruiter ติดต่อมาหาคุณ เพื่อแนะนำงานที่เหมาะสมกับความสามารถของคุณให้เองครับ