Working-with-Vary-Generation

เป็นที่กล่าวถึงกันอย่างมาก เกี่ยวกับการทำงานร่วมกับคน Gen-Y
Gen-Y ถูกพูดถึงในด้านการทำงานที่ไม่ค่อยจะดีนัก
เช่น ไม่มีความอดทนในการทำงาน ชอบเปลี่ยนงานบ่อย หนักไม่เอาเบาไม่สู้ เป็นตัวของตัวเองเกินไป
ซึ่งไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม การทำงานในบริษัทต่างๆ รวมถึงบริษัทญี่ปุ่น ย่อมต้องเจอกับคนหลายๆรุ่น ตั้งแต่ Baby Boomer(Gen-B), Gen-X รวมถึง Gen-Y
ดังน้้น เราๆที่เป็นมนุษย์ Gen-Y จึงควรที่จะเรียนรู้ในการทำงานและอยู่ร่วมกันกับคนรุ่นอื่นๆ หรือแม้แต่รุ่นเดียวกัน

การแบ่งคนเป็นหลายๆรุ่น หรือ หลายๆ Generation

เราลองมาทำความเข้าใจกันก่อนดีกว่าว่า คนหลายๆรุ่นนั้น มีอะไรกันบ้าง ในที่นี่จะกล่าวถึงแต่คนรุ่นปัจจุบันที่เราพบเจอในที่ทำงาน หรือในออฟฟิส

1) Baby Boomer (หรือ Gen-B): หมายถึง คนที่เกิดอยู่ในระหว่างปี พ.ศ. 2489 – 2507 ถ้านับอายุแล้ว ปัจจุบันจะมีอายุระหว่าง 52 - 70 ปี
คนในวัยนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นผู้บริหารระดับสูง เป็นเจ้าของกิจการ หรือเป็นพ่อแม่ผู้ปกครองของ Gen-X และ Gen-Y เหตุที่ได้ชื่อนี้เพราะว่า เป็นยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งแต่ละประเทศได้สูญเสียกำลังคนในสงครามไปมาก
จึงมีค่านิยมให้แต่ละครอบครัวในยุคนั้นมีลูกเยอะๆ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคตต่อไป คนในรุ่นนี้ จะมีลักษณะนิสัยมีความอดทนสูง สู้งาน ประหยัด รอบคอบ และทุ่มเทให้กับการทำงานในองค์กรมาก
เนื่องจากคนรุ่นนี้เป็นคนที่เคร่งครัดในขนบธรรมเนียมประเพณีที่ถูกสั่งสอนและสืบต่อกันมา ทำให้บางครั้งอาจถูกมองว่าเป็นพวกอนุรักษ์นิยม หรือหัวโบราณ

2) Generation X (หรือ Gen-X): หมายถึง คนที่เกิดอยู่ในระหว่างปี พ.ศ. 2508 – 2522 ถ้านับอายุแล้ว ปัจจุบันจะมีอายุระหว่าง 37 - 51 ปี
คนในวัยนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นหัวหน้างาน ผู้จัดการ หรือบางคนอาจได้เป็นผู้บริการระดับสูง และเป็นเจ้าของกิจการแล้ว (เป็นรุ่นพ่อหรือแม่หรือพี่ Gen-Y ก็มี) เนื่องจากคนรุ่น Baby Boomer มีจำนวนมาก ประกอบกับมีการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม
ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติลดลงอย่างมาก คนรุ่น Gen-X จึงเป็นยุคที่เริ่มมีการคุมกำเนิด ตรงข้ามกับรุ่น Baby Boomer ในยุคนี้ เป็นยุคของการเริ่มมีอุตสาหกรรมเข้ามาแทนที่เกษตรกรรมแบบเก่า มีการเริ่มใช้ระบบไอทีและคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วย
คนรุ่นนี้จึงชอบเทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่ค่อยยึดติดกับแนวความคิดแบบเก่าเท่าไร สามารถทำอะไรได้เพียงลำพัง สามารถยอมรับสิ่งใหม่ๆที่เกิดขึ้นได้ทันที

3) Generation Y (หรือ Gen-Y): หมายถึง คนที่เกิดอยู่ในระหว่างปี พ.ศ. 2523 – 2540 ถ้านับอายุแล้ว ปัจจุบันจะมีอายุระหว่าง 19 - 36 ปี
คนในวัยนี้ เป็นวัยเริ่มทำงานและกำลังค้นหาตัวเอง บางคนอาจจะเป็นหัวหน้าหรือเจ้าของกิจการแล้ว คนรุ่นนี้เติบโตมากับเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าแล้ว และชอบไอทีหรือคอมพิวเตอร์มาก สามารถใช้เทคโนโลยีทางด้านไอทีได้อย่างคล่องแคล่ว
เรียนรู้จากหลายๆทาง ไม่เน้นดูทีวีเหมือนคนรุ่นก่อนๆ ชอบการติดต่อสื่อสาร มีความคิดเป็นของตัวเองไม่ชอบตามกรอบในอดีต สามารถทำงานหลายๆอย่างได้ในเวลาเดียวกัน เนื่องจากคนรุ่นนี้มีตัวเลือกเยอะ ไม่ว่าจะเป็นสื่อต่างๆ หรือการทำงาน จึงทำให้ถูกมองว่าไม่ค่อยมีความอดทน ไม่สู้งาน
จึงมีเสียงบ่นมาจากคนรุ่นก่อนๆอยู่เสมอว่า คนในวัยนี้ หรือ คน Gen-Y ทำงานไม่ทน ไม่ค่อยฟัง ไม่ทำตามสิ่งที่บอก เป็นต้น

การทำงานร่วมกับคนในรุ่นต่างๆ

เนื่องจากคนเขียนอยู่ในรุ่น Gen-Y จึงขอกล่าวถึงการทำงานของคน Gen-Y กับคน Gen ต่างๆ
1) Gen-Y กับ Gen-B (Baby Boomer): เนื่องจากทั้งสองรุ่นค่อนข้างแตกต่างกันทางความคิดอยู่มาก เช่น Gen-B ชอบในกรอบ Gen-Y ชอบนอกกรอบ
การทำงานร่วมกันบางครั้งอาจจะมีปัญหากันบ่อยๆ อย่างแรกคน Gen-Y ต้องทำความเข้าใจกับ Gen-B ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น หากตนมีความคิดเห็นที่จะเสนอ ก็ควรจะนำเสนอพร้อมกับเหตุผลที่สามารถทำให้คน Gen-B รับฟังได้
หรือบางครั้งอาจจะจำเป็นต้องลองเสี่ยงทำ เพื่อให้คน Gen-B เห็นและยอมรับในฝีมือของคน Gen-Y ก่อน ซึ่งเมื่อเราสามารถสร้างผลงานได้แล้ว คน Gen-B ก็จะไว้วางใจ และมอบหมายงานที่ท้าทายใหม่ๆมาให้กับคน Gen-Y
ซึ่งจะทำให้การทำงานร่วมกันเป็นไปอย่างราบรื่นและมีความสุข ถ้าคน Gen-Y ไปเจอกับ Gen-B ที่หัวแข็งจนเกินไป เราแสดงผลงานให้เห็นแล้วก็ยังไม่เชื่อใจหรือไว้วางใจแล้ว เราคิดว่าควรจะออกห่างๆจากคนๆนั้นและหาที่ๆพร้อมให้คน Gen-Y พิสูจน์ฝีมือน่าจะดีกว่า

2) Gen-Y กับ Gen-X: ทั้งสองรุ่นนี้ ความคิดไม่ค่อยต่างกันมาก เพราะเป็นยุคของเทคโนโลยีเหมือนกัน แต่ว่าคน Gen-X จะมีความมั่นใจในตัวเองสูงมาก และยังไม่ไว้ใจเด็กรุ่นหลังง่ายๆ
คน Gen-Y จึงควรเปิดรับฟังความคิดเห็นของคน Gen-X ก่อน จากนั้นลองนำมาพิจารณาดูกับความคิดเห็นของตนเองว่ามีส่วนไหนที่ตรงกัน และไม่ตรงกัน จากนั้นคุยกันด้วยเหตุผล เลือกสิ่งที่ดีที่สุดแล้วประเมินผลออกมา
เมื่อทำได้ดังนี้ การทำงานก็จะเป็นไปอย่างดี คน Gen-X ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นคนหัวแข็ง เพียงแต่เป็นเขามั่นใจในความคิดของตนเองสูง หากเราสามารถทำลายกำแพงนี้ไปได้ คน Gen-X ก็จะมีความไว้ใจ และมอบหมายงานที่เหมาะสมกับเรามาให้เอง
ในบางครั้ง คน Gen-Y อาจจะต้องบริหารคน Gen-X ที่มีอายุมากกว่า จากที่กล่าวไปข้างต้น คน Gen-Y จำเป็นต้องแสดงความเป็นผู้นำ ให้กับคน Gen-X เห็นเสียก่อน ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับคน Gen-Y เป็นอย่างยิ่ง

3) Gen-Y กับ Gen-Y ด้วยกัน: มาถึงในรุ่นเดียวกัน เป็นสิ่งที่ได้เจอบ่อย เพราะจะเป็นเพื่อนร่วมงาน หรือไม่ก็หัวหน้า และลูกน้อง
การทำงานหรือการบริหารความสัมพันธ์นั้น เป็นสิ่งที่ไม่ยากนัก เนื่องจากเราจะเข้าใจกันดี แต่อาจจะมีบางครั้ง ที่ต่างฝ่ายต่างไม่รับฟังกัน ดังนั้น เราจึงควรพูดคุยและปรึกษากันด้วยเหตุผล พูดถึงข้อดีข้อเสียของแต่ละอย่าง แล้วนำมาวิเคราะห์กัน
การที่ต่างฝ่ายต่างชอบการทำอะไรที่ไม่ยึดติดกับกรอบความคิดเดิมๆ บางครั้งอาจจะทำให้ออกทะเลไปบ้าง ดังนั้นเราควรที่จะปรึกษาคนรุ่น Gen-X หรือ Gen-B ที่มีประสบการณ์มากกว่า มาให้คำแนะนำ เพื่อเป็นทางเลือกในการตัดสินใจ

สิ่งที่คน Gen-Y ควรปรับปรุงในการทำงาน

คน Gen-Y ในปัจจุบัน จะเป็นอนาคตที่สำคัญอย่างยิ่งขององค์กรและของประเทศชาติ เราลองมาดูสิ่งที่เราควรปรับปรุง เพื่อการพัฒนาตัวเองและสังคมกันดีกว่า
1) ฝึกความอดทนให้มากขึ้น เนื่องจากคน Gen-Y โตมากับเทคโนโลยีที่เพียบพร้อมอยู่รอบตัว จะทำอะไรก็ง่ายและสะดวกไปหมด ทำให้มีสมาธิสั้น ความอดทนต่ำ ไม่ชอบการรอคอย แต่ในชีวิตการทำงานจริง จำเป็นต้องมีการรอคอย เช่น รอหัวหน้าตอบกลับ รอลูกค้าตอบกลับ ดังนั้น จึงควรปรับทัศนคติว่า เราอยู่ร่วมกันกับคนหลายรูปแบบในสังคม การรอคอยนั้นเป็นเรื่องปกติ หรือหางานอื่นๆทำไปด้วยระหว่างรอ ซึ่งเป็นสิ่งที่คน Gen-Y ถนัดอยู่แล้ว
2) อย่ารีบร้อนตัดสินใจเกินไป คน Gen-Y ควรพิจารณาแต่ละเรื่องให้ละเอียดถึ่ถ้วนจริงๆเสียก่อน บางอย่างอาจจะต้องใช้เวลาในการคิดหรือรอผล หรือขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ เพื่อประกอบการตัดสินใจ
3) การเปลี่ยนงานไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด คน Gen-Y เปลี่ยนงานบ่อยและง่าย เนื่องจากมีตัวเลือกค่อนข้างเยอะ บางคนอาจจะบอกว่ากำลังค้นหาตัวเอง แต่จริงๆแล้ว ไม่ว่าเราจะเปลี่ยนงานไปที่ไหน สังคมในแต่ละที่ก็จะประกอบไปด้วยบุคลากรคล้ายๆกัน ดังนั้นลองใช้เวลาทำงานไปสักพักก่อน บางที่สิ่งๆดีๆอาจจะมาทีหลังก็ได้
4) เพิ่มความละเอียดรอบคอบในการทำงาน ใส่ใจในการทำงานให้มากขึ้น ตรวจทานการทำงาน หรือแม้แต่การส่งอีเมลหรือข้อความว่า ได้ส่งไปถูกต้องหรือไม่ เพียงเท่านี้คน Gen-Y ก็จะเป็นคนที่ทำงานไม่ตกหล่นบกพร่อง ได้รับคำชมเชยและได้เพิ่มค่าตอบแทนได้ไม่ยากเย็น
5) เชื่อว่าสิ่งที่มีคนเคยทำแล้วดี มันต้องมีดีจริงๆ การคิดนอกกรอกเป็นสิ่งที่ดี จะทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆขึ้นมา แต่คน Gen-Y ควรศึกษาอดีตและประวัติศาสตร์ด้วยว่า สิ่งที่คนรุ่นก่อนทำแล้วดีนั้น จะนำมาใช้ในยุคนี้ให้เกิดประโยขน์สูงสุดได้อย่างไร

ไม่ว่าคุณจะเป็นคนรุ่นไหน IDEABOY อยากให้ทุกคนทำงานและอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข